วันๆ คนกรุงเข้าแต่"ร้านสะดวกซื้อ" เมินร้านอาหารตามสั่งข้างถนน ไปฟิตเนตโรงหนังพอๆ กับสวนสาธารณะ

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center)หรือ UDDC ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเดินเท้าและการเข้าถึงบริการสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่ง ระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง หมายถึง บริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับในชุมชน รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและรับภาระในการให้บริการ  โดยบริการดังกล่าวจะปรากฏในในเขตเมือง  สำหรับ “สาธารณูปการ” นั้น UDDC ให้ความหมายว่า  เป็นรูปแบบการบริการที่ประชาชนเข้าไปหาผู้ให้บริการ  ซึ่งล้วนเป็นบริการเพื่อสาธารณะ ที่ดำเนินการผ่านองค์กรของรัฐหรือเอกชนโดยการควบคุมของรัฐ   ได้แก่ บริการในเรื่อง เคหการ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สันทนาการ และบริการอื่นๆ ตามความต้องการของประชาชน และเป็นกิจการที่ไม่หวังผลกำไร  ส่วน “สาธารณูปโภค”  หมายถึงบริการที่เข้ามาหาประชาชน  สาธารณูปโภคของเมือง จึงได้แก่ ถนน โทรศัพท์ แก๊ส ไฟฟ้า ประปา การระบายน้ำ การกำจัดขยะ ฯลฯ ซึ่งสามารถจะจัดกลุ่มประเภทของสาธารณูปโภคได้ดังนี้ คือ ถนน โทรศัพท์ การขนส่ง แก๊ส ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ประปา ระบายน้ำ กำจัดขยะ การสื่อสาร เป็นต้น

จากการสำรวจเมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดของสาธารณูปการ พบว่า หมวดที่ได้รับความนิยมในการเข้าถึงสูงสุด  อันดับ 1 คือ  เรื่องอุปโภค-บริโภค  ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเช่น เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัสเอ็กซเพรส บิ๊กซีมินิ เป็นต้น รวมไปถึง ร้านค้า/ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 43 รองลงมาเป็นหมวดการเดินทาง/บริการขนส่งสาธารณะ ได้แก่ ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือ วินรถตู้ วินรถจักรยานยนต์  ร้อยละ  26   หมวดสันทนาการและการพักผ่อน ได้แก่  ฟิตเนต สวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ สนามกีฬา สถานบันเทิง ร้อยละ 17 และ หมวดบริการสาธารณะอื่นๆ  ได้แก่  คลินิก ไปรษณีย์ ธนาคาร บริการทางการเงิน ร้อยละ16    และท้ายสุดของสุดท้าย คือ บริการและหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานเขต สถานีตำรวจ สำนักงานไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์  ร้อยละ 10  ทั้งนี้สำหรับการสำรวจสาธารณูปการกว่า 38 ประเภท พบว่า 3 อันดับแรก ที่คนกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการบ่อยที่สุด คือใช้บริการมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์  คือ  ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 72 ส่วน ร้านอาหารจานด่วนข้างทางและร้านอาหารตามสั่ง พบว่านิยมไปเพียง ร้อยละ 55 และร้านขายของชำร้อยละ 51 

 

ซึ่งผลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสาธารณูปการประเภทไหนที่ตอบโจทย์คนกรุงเทพและควรอยู่ในระยะเดินเท้า และต้องกระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม