GoodWalk.org คืออะไร

GoodWalk.org เป็นเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ที่ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ข้อมูลที่เผยแพร่ใน GoodWalk.org ในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าใจการเดินได้ของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจะมีการคำนวณ “คะแนนการเดินได้ (GoodWalk Score)  ของทุกพื้นที่” และคะแนนการเดินได้เฉลี่ยของแต่ละเขตการปกครองผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และแสดงผลในระบบ Interactive Map ที่สามารถสืบค้นตำแหน่งได้

GoodWalk.org เป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง

ข้อมูลใน GoodWalk.org นี้เป็นประโยชน์ทั้งแก่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในระดับนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อการเดิน ภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ในการรณรงค์  และส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดิน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

ทำไมต้องแบ่งคิดเป็น “การเดินได้” กับ “การเดินดี”

โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี เริ่มต้นจากแนวคิดในการส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนด้วยการเดินในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้คนเลือกใช้การเดินเป็นการสัญจรในชีวิตประจำวันนั้น สามารถแบ่งได้ 2 ประการได้แก่

จุดหมายปลายทางที่ต้องการเดินทางไป อยู่ในระยะการเดินหรือไม่
สิ่งแวดล้อมของเส้นทาง เอื้อต่อการเดินหรือไม่

ปัจจัยทั้งสองประการนี้ จำเป็นต้องแยกกันพิจารณาเนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่คนละระดับกัน โดยโครงการฯ ได้พิจารณาปัจจัยข้อที่ 1 ในกรอบ “การเดินได้” ซึ่งจะหาว่ามีสิ่งดึงดูดที่อยู่ในระยะการเดินจากจุดหรือหรือพื้นที่ที่สนใจมากน้อยแค่ไหน และพิจารณาปัจจัยข้อที่ 2 ในกรอบ “การเดินดี” ซึ่งจะเป็นการวัดศักยภาพการเดินของพื้นที่ในเชิงคุณภาพ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบในเชิงสภาพแวดล้อม

 

ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับ “ความเดินได้” ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ “ความเดินดี” เผยแพร่ใน GoodWalk.org

 

"GoodWalk Score" คืออะไร

GoodWalk Score (คะแนนการเดินได้) คือ คะแนนที่บอกถึงระดับศักยภาพการเดินของพื้นที่ โดยคำนวณจากสถานที่ดึงดูดการเดิน ซึ่งหากมีสถานที่ดึงดูดการเดินจำนวนมากภายในระยะเดินเท้า คะแนนความเดินได้ของจุดหรือพื้นที่นั้นๆ จะมีค่าสูงกว่าจุดหรือพื้นที่ที่มีสถานที่ดึงดูดการเดินน้อยกว่า

ทำไมต้องทราบ GoodWalk Score

GoodWalk Score ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบศักยภาพการเดินระหว่างพื้นที่  เช่น คะแนนการเดินได้สูง แปลว่าพื้นที่นั้นสามารถเข้าถึงสถานที่ดึงดูดการเดิน ได้มาก หรือกล่าวได้ว่ามีศักยภาพในการส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวัน มากกว่าพื้นที่ที่มีคะแนนการเดินได้ต่ำ

จะค้นหา GoodWalk Score ได้อย่างไร

สามารถค้นหาง่ายๆ ได้ที่ GoodWalk.org เพียงกรอกสถานที่ที่ต้องการค้นหาคะแนนความเดินได้ที่ช่อง search หรือ กดปุ่ม GPS ข้างหน้าช่อง search เพื่อค้นหาคะแนนความเดินได้ของตำแหน่งที่ท่านอยู่ในปัจจุบัน

GoodWalk Score คำนวณจากอะไรบ้าง

GoodWalk Score ถูกคำนวณจากผลรวมของค่าคะแนนที่ได้มาจากระยะห่างจาก “สถานที่ดึงดูดการเดิน” ทั้ง 6 ประเภท ซึ่งประกอบด้วย 
1.แหล่งงาน 
2.สถานศึกษา 
3.แหล่งจับจ่ายใช้สอย 
4.พื้นที่นันทนาการ 
5.สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม 
6.สถานที่ขนส่งสาธารณะ

ค่า GoodWalk Score บอกอะไรกับเรา

สามารถแปลผลค่า GoodWalk Score โดยวิธีการแบ่งกลุ่มตามค่าของข้อมูล (Natural Breaks) ได้ดังนี้
0-15                 ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดิน

16-32               เข้าถึงด้วยการเดินได้ลำบาก

33-48               เข้าถึงด้วยการเดินได้เล็กน้อย

49-65               เข้าถึงด้วการเดินได้ปานกลาง

66-100             เข้าถึงด้วยการเดินได้ดี

ใครสามารถใช้ประโยชน์จาก GoodWalk Score ได้บ้าง

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เมือง สามารถใช้ประโยชน์จาก GoodWalk Score เพื่อการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่เมืองที่เอื้อต่อการเดิน
2. ประชาชนทั่วไป สามารถนำ GoodWalk Score ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่อยู่อาศัย การเลือกสถานที่ทำงาน เป็นต้น

 

GoodWalk Score สามารถนำไปต่อยอดในเรื่องอะไรได้บ้าง

คะแนนการเดินได้ น่าจะเป็นนวัตกรรมที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมือง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ เช่น

1. เป็นฐานข้อมูลเพื่อการพิจารณาพื้นที่เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองให้เอื้อต่อการเดิน
2. เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดสรรสาธารณูปการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะ
3. เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาย่านน่าอยู่
4. เป็นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพระหว่างพื้นที่

5. เป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

"สถานที่ดึงดูดการเดิน" คืออะไร

สถานที่ดึงดูดการเดิน (Point of Attraction) คือ สถานที่ที่เป็นเป้าหมายของการเดินในชีวิตประจำวัน จากการศึกษา สามารถแยกสถานที่ดึงดูดการเดินได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่

1.แหล่งงาน

2.สถานศึกษา

3.แหล่งจับจ่ายใช้สอย

4.พื้นที่นันทนาการ

5.สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม

6.สถานที่ขนส่งสาธารณะ
ตัวอย่างของสถานที่ดึงดูดการเดิน ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ โรงเรียน ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ เป็นต้น

“GoodWalk Score” กับ “สถานที่ดึงดูดการเดิน” สัมพันธ์กันอย่างไร

GoodWalk Score ของแต่ละจุดหรือพื้นที่ได้ถูกคำนวณจากที่ตั้งของสถานที่ดึงดูดการเดิน ที่อยู่รายรอบจุดหรือพื้นที่นั้นๆ โดยมีการคิดคำนวณจากประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

1.ระยะทางจากสถานที่ดึงดูดการเดิน หากจุดหรือพื้นที่อยู่ใกล้สถานที่ดึงดูดการเดิน ก็จะได้คะแนนมากกว่าจุดหรือพื้นที่ที่อยู่ไกลจากสถานที่ดึงดูดการเดิน

2.ความถี่ในการใช้บริการสถานที่ดึงดูดการเดินนั้นๆ ซึ่งจะใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักจากความถี่ในการใช้บริการสถานที่ดึงดูดการเดินแต่ละชนิด ที่ได้จากสำรวจโดยแบบสอบถาม โดยสถานที่ดึงดูดการเดินที่ถูกใช้งานด้วยความถี่สูงกว่า จะมีค่าถ่วงน้ำหนักที่มากกว่า

3.ขนาดของการดึงดูด ซึ่งคิดจากหลักการที่ว่า สถานที่ดึงดูดการเดินที่มีขนาดใหญ่กว่าเช่น ห้างสรรพสินค้า จะดึงดูดผู้ใช้บริการได้มากกว่าร้านค้าปลีก ซึ่งจะมีการให้ค่าถ่วงน้ำหนักเช่นเดียวกับความถี่ในการใช้บริการ

GoodWalk Score ของแต่ละจุดหรือพื้นที่ จะถูกคำนวณจากความมากน้อยของสถานที่ดึงดูดการเดินทั้ง 6 ประเภทตามหลักการคิดข้างต้น

บ้านจัดเป็นสถานที่ดึงดูดการเดินหรือไม่ เพราะอะไร

ในกระบวนการคิดของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี บ้านไม่จัดเป็นสถานที่ดึงดูดการเดิน เนื่องจากบ้านไม่ใช่สถานที่ที่เป็นจุดหมาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดิน

วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ วินรถสองแถว จัดเป็นสถานที่ดึงดูดการเดินหรือไม่ เพราะอะไร

วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ วินรถสองแถว เป็นสถานที่ดึงดูดการเดินเนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่ยึดโยงกับพฤติกรรมการเดินเท้า แต่เพราะเป็นจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย มีความไม่แน่นอน และจากข้อจำกัดด้านฐานข้อมูล จึงไม่ได้นำมาเป็นปัจจัยเพื่อคำนวณ GoodWalk Score ในการศึกษานี้

ทำไมต้องมีการจัดอันดับพื้นที่ด้วย GoodWalk Score

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบศักยภาพการเดินเท้าระหว่างพื้นที่ (เขตการปกครอง) โดยคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเนชิงนโยบายการพัฒนาสาธารณูปการที่ช่วยส่งเสริมการเดินเท้า