BACKGROUND
  • ที่มาของโครงการ

    การเดินเป็นพฤติกรรมและปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้การเดินเท้าสามารถสร้างให้เกิดสังคมเมืองที่ดีได้ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเร่งให้เกิดกระบวนการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน จากความสำคัญข้างต้นศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จึงได้ริเริ่ม “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการและกลไกในการเชื่อมโยง “นโยบายสุขภาวะ” เข้ากับ “พื้นที่” ที่จะนำไปสู่การออกแบบพื้นที่เมืองให้ตอบสนองต่อนโยบายสุขภาวะที่เน้นพฤติกรรม “การเดิน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    goodwalk.org ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลการศึกษาของโครงการดังกล่าว โดยศูนย์ฯ คาดหวังให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเมือง (Urban Data) และยังมีประโยชน์ในเชิงการต่อยอดการศึกษา การวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างหลากหลาย อาทิ งานด้านการออกแบบพัฒนาเมือง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนด้านการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในเมือง เป็นต้น และจะเป็น “นวัตกรรม” ของเมืองที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนบริบททางกายภาพ และเศรษฐสังคมของเมือง ให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป

  • จุดมุ่งหมายของโครงการ

    โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่

    1.ศึกษาและพัฒนาแผนที่คะแนนความเดินได้ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

    2.คัดเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อศึกษาคะแนนความเดินดี

    3.เสนอแนวทางออกแบบเชิงกายภาพเพื่อปรับปรุงพื้นที่นำร่องให้เอื้อต่อการเดิน

    4.สร้างความตระหนัก และผลักดันให้เกิดการพัฒนา เมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

  • ภาพรวมของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

    โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี แบ่งระยะการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ

    - ระยะที่ 1 : ศึกษาค่าคะแนนความเดินได้ (Walking Potential index หรือ WPI) ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อสามารถระบุพื้นที่ยุทธศาสตร์ หรือพื้นที่ที่ดึงดูดการเดินเท้า เพื่อผลในการผลักดันนโยบายของภาครัฐในการปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินมกยิ่งขึ้น

    -ระยะที่ 2 : ศึกษาค่าคะแนนความเดินดี (Walking Quality Index หรือ WQI) ของพื้นที่นำร่อง เพื่อให้ทราบศักยภาพของพื้นที่ที่เป็นปัจจัยส่งเสริม และระบุปัญหาที่เป็นปัจจัยบั่นทอนการเดินของประชาชน

    -ระยะที่ 3 : สร้างแนวทางควบคุมและการออกแบบ (Design Control & Design Guideline) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เอื้อต่อการเดินมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เมืองในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    โดยการดำเนินการทั้ง 3 ระยะ จะมีการสร้างความตระหนักต่อสังคม และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชนควบคู่ไปด้วย