ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ระบุ บนเวทีนำเสนอโครงการ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 ถึงประโยชน์จากการพัฒนาระบบทางเดินเท้าให้มีคุณภาพ โดยชี้แจงว่า การพัฒนาทางเดินเท้า ที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน จะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจระดับกลางและระดับย่อย 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ยูดีดีซี นำเสนอเหตุผลสำคัญของการพัฒนาระบบทางเดินเท้าที่มีคุณภาพ และการส่งเสริมให้คนสัญจรด้วยการเดิน ในเวทีการนำเสนอโครงการ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 2 

นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพ การเสริมสร้างความปลอดภัย ตลอดจน ชีวิตชีวาให้กับเมืองแล้ว ผู้อำนวยการยูดีดีซี ยังนำเสนอข้อเท็จจริงที่ระบุว่า ความรวดเร็วในการเคลื่อนที่ แปรผกผันกับความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย  เพราะฉะนั้น การเดินเท้าจึงมีผลโดยตรงต่อความคึกคักทางเศรษฐกิจ ช่วยกระจายความมั่งคั่งไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างทั่วถึง สอดรับกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในอนาคตของเมือง

ผู้อำนวยการยูดีดีซี ยังบอกด้วยว่า คุณภาพของทางเท้าสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของเมือง เมืองที่มีทางเดินเท้าคุณภาพ จะสร้างสำนึกของความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมให้คนมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย และ เป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมด้วย